อาการคนแพ้ท้อง หรืออาการแพ้ท้อง (Morning Sickness) เป็นอาการที่พบได้ภายในช่วง 3 เดือนแรกหลังตั้งครรภ์ ซึ่งอาจเป็นควบคู่กับอาการคนท้องระยะแรก 1-2 สัปดาห์ได้ โดยอาการคนแพ้ท้องจะแตกต่างไปตามแต่ละบุคคล บางคนอาจเป็นหนักและบางคนอาจแทบไม่มีอาการเลย
ทั้งนี้การแพ้ท้องไม่ได้ส่งผลต่อพัฒนาการทารกในครรภ์ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงไม่ต้องกังวลว่าเจ้าตัวน้อยจะเป็นอะไรหรือไม่ แต่อาการคนแพ้ท้องอาจส่งผลต่อสุขภาพของคุณแม่ได้ ดังนั้นจึงควรสังเกตอาการและศึกษาแนวทางการรับมือไว้แต่เนิ่น ๆ

อาการแพ้ท้องเกิดจากอะไร
อาการแพ้ท้องเกิดจากการเพิ่มระดับของฮอร์โมนตั้งครรภ์อย่างฮอร์โมน HCG ซึ่งเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามอายุครรภ์ ดังนั้นอาการคนแพ้ท้องจึงไม่ขึ้นอยู่กับลักษณะท้องของคนท้องโดยตรง แต่เมื่อเวลาผ่านไป อายุครรภ์มากขึ้นท้องก็อาจโตขึ้นและส่งผลต่ออาการแพ้ท้องที่เห็นได้ชัดขึ้นไปด้วยได้
นอกจากอาการคนแพ้ท้องจะเกิดจากฮอร์โมนที่เพิ่มระดับขึ้นแล้ว ก็อาจมีปัจจัยอื่น ๆ เช่น ความเครียด สภาวะจิตใจที่ไม่มั่นคง รวมไปถึงสัญชาตญาณภายในร่างกายของคุณแม่ที่ต่อต้านอาหารหรือสิ่งแปลกปลอมที่อาจเกิดอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้เช่นกัน
อาการแพ้ท้องเริ่มต้นเมื่อไหร่
อาการแพ้ท้องเริ่มต้นในช่วง 3 เดือนแรกหรือไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ ซึ่งสามารถเริ่มมีอาการได้เร็วที่สุดตั้งแต่ช่วง 4 สัปดาห์หลังการตั้งครรภ์ และอาจมีอาการแพ้ท้องต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ จนถึง 15 สัปดาห์หลังการตั้งครรภ์ โดยช่วงที่อาการคนแพ้ท้องจะรุนแรงหรือมีอาการมากที่สุดคือช่วงสัปดาห์ที่ 8-9 เนื่องจากเป็นช่วงที่มีฮอร์โมน HCG มากที่สุด
อาการแพ้ท้องมีอะไรบ้าง ต้องสังเกตอย่างไรจึงจะรับมือถูก

อาการแพ้ท้องอาจมีระดับความรุนแรงต่างกันตามคุณแม่แต่ละคน ตั้งแต่มีอาการน้อย เป็นเพียงอาการโดยทั่วไป ตลอดจนอาการแพ้ท้องที่รุนแรงซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายกับคุณแม่ได้ ดังนั้นจึงสามารถแบ่งอาการแพ้ท้องออกได้เป็น 3 ระดับคือ
- อาการแพ้ท้องทั่วไป
- อาการแพ้ท้องอย่างหนัก
- อาการแพ้ท้องรุนแรง
อาการแพ้ท้องโดยทั่วไป
โดยทั่วไปแล้วอาการแพ้ท้องจะประกอบไปด้วยอาการดังต่อไปนี้
- คลื่นไส้ อาเจียน
- เวียนศีรษะ และอาจมีอาการหน้ามืดร่วมด้วย
- ไวต่อกลิ่นต่าง ๆ เหม็นกลิ่นที่เมื่อก่อนไม่เหม็น หรือคิดว่าบางกลิ่นหอมเป็นพิเศษ
- การรับรสเปลี่ยนไป อยากกินอาหารที่เคยไม่ชอบ หรือไม่อยากกินอาหารที่ชอบ
- ท้องอืดราวกับอาหารไม่ย่อย
- รู้สึกจุกแน่นหรือแสบบริเวณลิ้นปี่
- หมดแรง อ่อนเพลียง่าย นอนเท่าไหร่ก็ไม่พอ
- เรอเปรี้ยว
- หงุดหงิดง่ายและปวดหัว
- พฤติกรรมการรับประทานอาหารเปลี่ยนไป อาจหิวบ่อยกว่าปกติ หรือเบื่ออาหาร
- กรดไหลย้อน ระคายเคืองหลอดอาหาร
อาการแพ้ท้องเหล่านี้อาจเกิดขึ้นเพียงไม่กี่อาการ และเกิดขึ้นแตกต่างกันไปตามคุณแม่แต่ละคน ซึ่งอาการเหล่านี้เป็นเพียงอาการโดยทั่วไป จึงสามารถบรรเทาได้ไม่ยาก
อาการแพ้ท้องอย่างหนัก
สำหรับผู้ที่มีอาการคนแพ้ท้องอย่างหนักอาจเป็นถึงขั้นที่ว่าไม่สามารถทานอะไรได้เลย จนน้ำหนักลดผิดปกติ คุณแม่ที่แพ้ท้องหนักก็อาจเป็นกังวลว่าลูกน้อยจะได้รับสารอาหารไม่เพียงพอหรือไม่ ในกรณีนี้การรับประทานผลไม้หรือเครื่องดื่มหวาน ๆ ที่มีกลูโคสจะช่วยเสริมพลังงานให้คุณแม่ได้ และยังให้สารอาหารแก่ลูกน้อยอีกด้วย นอกจากนี้การรับประทานอาหารให้บ่อยขึ้น แบ่งเป็นมื้อเล็ก ๆ ก็จะช่วยให้รับประทานได้มากขึ้นเช่นกัน
อาการแพ้ท้องรุนแรง
ในบางรายอาจมีอาการแพ้ท้องรุนแรถึงขั้นดื่มน้ำก็ยังอาเจียน จนอาจเข้าสู่ภาวะแพ้ท้องขั้นรุนแรง (hyperemesis gravidarum) ในกรณีนี้ควรไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุด เพื่อให้สามารถดูแลได้อย่างทันท่วงที ให้คุณแม่กลับมาแข็งแรงและไม่ส่งผลกระทบไปถึงทารกในครรภ์
โดยอาการแพ้ท้องรุนแรงเป็นอาการแพ้ท้องประเภทเดียวที่อาจมีโอกาสส่งผลกระทบต่อทารกได้
ลดอาการแพ้ท้องได้อย่างไร เทคนิคง่าย ๆ ให้คุณพ่อคุณแม่พร้อมรับมือ
อาการแพ้ท้องที่พบได้ทั่วไปจะเกี่ยวข้องกับการรับประทานอาหารหรือความแข็งแรงของร่างกายเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นการเตรียมตัวของคุณพ่อและคุณแม่ที่จะช่วยทำให้อาการแพ้ท้องดีขึ้นจึงสามารถทำได้ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้
- ปรับวิธีการรับประทานอาหาร หันมารับประทานอาหารคนท้อง คืออาหารที่มีประโยชน์และรับประทานง่าย
- ปรับการรับประทานอาหารโดยการแบ่งมื้ออาหารให้มากขึ้น รับประทานทีละน้อย ๆ เพื่อให้สามารถรับประทานอาหารได้มากขึ้นในแต่ละวัน
- หลีกเลี่ยงสิ่งเร้าที่จะมากระตุ้นอาการแพ้ท้อง ไม่ว่าจะเป็นกลิ่นหรือรสชาติอาหารที่จัดเกินไป
- ออกกำลังกายเบา ๆ หรือทำกิจกรรมที่ช่วยให้ร่างกายและจิตใจผ่อนคลาย
- พักผ่อนให้เพียงพอ พยายามนอนหลับเป็นเวลาและนอนให้พอต่อความต้องการของร่างกาย
- ดื่มน้ำในปริมาณที่เหมาะสมเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะขาดน้ำ จิบน้ำบ่อย ๆ
- ไม่ฝืนทำกิจกรรมที่ต้องใช้แรงเยอะ เช่นการทำงานบ้านหรือการทำงานบางประเภท
- พยายามทำให้จิตใจแจ่มใส อารมณ์ดี หลีกเลี่ยงสิ่งที่จะทำให้เกิดความเครียด
นอกจากการลดอาการคนแพ้ท้องด้วยวิธีเหล่านี้แล้ว ยังมีข้อห้ามคนท้อง 1-3 เดือนแรกที่คุณพ่อคุณแม่ควรพิจารณาอีกด้วย ได้แก่
- การงดดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์หรือคาเฟอีน
- งดสูบบุหรี่
- หลีกเลี่ยงบริเวณที่มีอุณหภูมิสูงเช่นการอบซาวน่า การแช่น้ำร้อน
- หลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีสิ่งสกปรกเช่นมูลสัตว์
- หลีกเลี่ยงการรับประทานยาบางชนิด เช่น ยาแก้อักเสบชนิดต่าง ๆ และกลุ่มยาสำหรับรักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับความดันโลหิตและหลอดเลือด
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่ปรุงสุก ๆ ดิบ ๆ
คุณพ่อแพ้ท้องแทนได้จริงหรือ ทำไมบางคนจึงแพ้ท้องแทนภรรยา
คุณพ่อก็สามารถแพ้ท้องแทนภรรยาได้เช่นกัน อาการแพ้ท้องที่เกิดขึ้นจะเรียกว่าเรียกว่าโคเวด ซินโดรม (Couvade Syndrome) ซึ่งยังไม่มีสาเหตุที่แน่ชัด แต่อาจเกิดได้จากหลายปัจจัยไม่ว่าจะจากความวิตกกังวลเมื่อทราบว่าจะมีบุตร การรับรู้ถึงความต้องการของภรรยาที่อยากมีลูก ตลอดจนภาวะทางจิตใจที่ได้มีลูกสักทีแม้จะอยู่ในภาวะมีบุตรยาก
อาการคนแพ้ท้องที่เกิดในคุณพ่อนี้สามารถบรรเทาได้ด้วยวิธีการแบบเดียวกันกับอาการแพ้ท้องที่เกิดในคุณแม่ โดยอาการดังกล่าวจะหายไปเมื่อคุณแม่คลอดบุตรแล้ว ดังนั้นในระหว่างที่คุณพ่อมีอาการแพ้ท้องแทนคุณแม่ ก็ควรให้กำลังใจกันและไม่ล้อเลียน หรือหยอกล้อจนคุณพ่อเสียความมั่นใจไป
สรุป
อาการแพ้ท้องสามารถมีได้หลายอาการ และจะมีอาการแพ้ท้องมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล สามารถดูแลและรับมือได้โดยการดูแลสุขภาพ พักผ่อนและดื่มน้ำให้เพียงพอ รวมไปถึงการการปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหารเพื่อให้ทานอาหารได้มากขึ้น และหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่จะทำให้เกิดอาการแพ้ท้องอีกด้วย
ในกรณีที่มีอาการแพ้ท้องรุนแรงควรไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุด โดยสามารถเลือกพบแพทย์โดยเร็วได้ที่ “หมอสูตินารี ใกล้ฉัน”
Reference:
Pregnancy – morning sickness Available from : https://www.betterhealth.vic.gov.au/health/healthyliving/pregnancy-morning-sickness
Morning sickness Available from : https://www.marchofdimes.org/find-support/topics/pregnancy/morning-sickness
Vomiting and morning sickness Available from :
https://www.nhs.uk/pregnancy/related-conditions/common-symptoms/vomiting-and-morning-sickness/
Morning sickness Available from : https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/morning-sickness/symptoms-causes/syc-20375254Couvade syndrome (sympathetic pregnancy) Available from : https://www.babycenter.com/pregnancy/relationships/strange-but-true-couvade-syndrome-sympathetic-pregnancy_10364940