
ตรวจครรภ์ได้ตอนไหนคำถามสำคัญที่คุณแม่มือใหม่ไม่ควรพลาด เพราะการตรวจครรภ์ที่เร็วเกินไป อาจทำให้ผลการตรวจคลาดเคลื่อน จากที่คุณแม่จะรู้ว่าตนเองตั้งครรภ์หรือไม่ก็อาจกลายเป็นความเข้าใจผิดแทนได้ ดังนั้นการรู้ว่าควรเริ่มตรวจครรภ์ได้ตอนไหนจึงสำคัญมาก
ก่อนจะรู้ว่าตรวจครรภ์ได้ตอนไหน สิ่งแรกที่เราควรทำความเข้าใจก่อนคือ การตรวจครรภ์นั้นเป็นการตรวจหาฮอร์โมน HCG (Human Chorionic Gonadotropin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่จะค่อย ๆ เพิ่มระดับขึ้นหลังตั้งครรภ์ ดังนั้นหากตรวจครรภ์ก่อนที่ฮอร์โมนดังกล่าวจะเพิ่มระดับจนมีเพียงพอก็อาจทำให้ตรวจไม่พบการตั้งครรภ์ได้
ในบทความนี้เราจะพาคุณแม่ไปหาคำตอบว่าตรวจครรภ์ได้ตอนไหน และมีวิธีตรวจครรภ์อย่างไรบ้าง เพื่อให้คุณแม่ได้ตรวจครรภ์ในช่วงเวลาที่เหมาะสมและสามารถตรวจผลการตั้งครรภ์ได้อย่างถูกวิธี
ตรวจครรภ์ได้ตอนไหน ต้องท้องนานกี่สัปดาห์จึงจะตรวจเจอ

สำหรับคุณแม่ที่สงสัยว่าแล้วเราจะตรวจครรภ์ได้ตอนไหน ต้องท้องนานแค่ไหนถึงจะตรวจเจอ ต้องรอกี่วัน กี่สัปดาห์ หรือกี่เดือนกันแน่ เราจะมาไขข้อข้องใจนี้ไปพร้อม ๆ กัน
การจะดูว่าตรวจครรภ์ได้ตอนไหน เวลาใดที่สามารถเริ่มตรวจครรภ์ได้นั้น จะต้องพิจารณาจากธรรมชาติของการเพิ่มระดับฮอร์โมนคนท้องอย่างฮอร์โมน HCG เสียก่อน โดยในคุณแม่บางรายอาจตรวจครรภ์ได้เร็วที่สุดภายใน 6-10 วันหลังการปฏิสนธิ เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่ฮอร์โมน HCG เริ่มเพิ่มระดับขึ้นจนอาจตรวจเจอได้ แต่ก็ยังไม่ใช่ช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการตรวจครรภ์ เพราะการตรวจบางวิธีหรือระดับฮอร์โมนในคุณแม่บางรายอาจยังไม่เพียงพอต่อการแสดงผลตรวจที่ถูกต้อง
ดังนั้นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดในการตรวจครรภ์จึงเป็นช่วงเวลาตั้งแต่ 1วัน ไปจนถึง 1 สัปดาห์หลังจากประจำเดือนไม่มาตามเวลาที่ควรจะมาซึ่งการตรวจช่วงเวลานี้จะเป็นในกรณีของคนที่ประจำเดือนมาปกติเท่านั้น แต่หากคุณแม่มักมีประจำเดือนมาไม่ปกติก็สามารถเลือกรออย่างน้อย 21 วันหลังการมีเพศสัมพันธ์แทนได้ นี่จึงเป็นคำตอบของคำถามที่ว่าตรวจครรภ์ได้ตอนไหน ตรวจครรภ์เมื่อใดจึงจะดีที่สุดนั่นเอง
วิธีการตรวจครรภ์
เมื่อทราบแล้วว่าคุณแม่ควรเริ่มตรวจครรภ์ได้ตอนไหน ข้อมูลต่อไปที่คุณแม่ควรทราบคือการรู้จักวิธีการตรวจครรภ์รูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้สามารถเลือกประเภทและวิธีตรวจครรภ์ที่เหมาะสมกับคุณแม่มากที่สุดได้ โดยการตรวจครรภ์จะแบ่งคร่าว ๆ ออกเป็นการตรวจครรภ์ด้วยตนเอง และการตรวจครรภ์โดยผู้เชี่ยวชาญ
การตรวจครรภ์ด้วยตนเอง
การตรวจครรภ์ด้วยตนเองสามารถทำได้ไม่ยาก เพียงแค่ซื้ออุปกรณ์สำหรับการตรวจครรภ์มาใช้ การตรวจครรภ์ในลักษณะนี้จะเป็นการตรวจหาฮอร์โมน HCG ผ่านปัสสาวะเป็นหลักซึ่งจะประกอบไปด้วย 3 ประเภทได้แก่
- การตรวจครรภ์ด้วยตนเองแบบหยด ซึ่งจะมีหลอดหยดมาให้ สามารถตรวจครรภ์ได้โดยให้คุณแม่ทำการหยดตัวอย่างปัสสาวะลงบนตลับสำหรับตรวจครรภ์
- การตรวจครรภ์ด้วยตนเองแบบใช้แถบจุ่ม มีวิธีการตรวจที่ตรงตัวตามชื่อ นั่นคือการใช้แถบจุ่ม จุ่มลงไปยังตัวอย่างปัสสาวะนั่นเอง แต่มีข้อควรระวังคืออย่าจุ่มให้ปัสสาวะเกินขีดที่กำหนดไว้
- การตรวจครรภ์ด้วยตนเองแบบปัสสาวะผ่าน มีวิธีการตรวจตรงตามชื่อเช่นกัน มีข้อควรระวังคือคุณแม่ต้องมั่นใจว่าหันหัวลูกศรชี้ลงพื้นตามคู่มือการตรวจแล้ว
การตรวจครรภ์โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
การตรวจครรภ์โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ จะเป็นการตรวจหาฮอร์โมน HCG ผ่านตัวอย่างเลือด ซึ่งจะช่วยให้ทราบปริมาณของฮอร์โมน HCG ณ ขณะนั้นได้ด้วย จึงสามารถวางแผนดูแลคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ได้ดียิ่งขึ้น โดยการตรวจประเภทนี้จะละเอียดและแม่นยำกว่าการตรวจผ่านปัสสาวะทั่วไป
นอกจากการตรวจหาฮอร์โมน HCG ผ่านตัวอย่างเลือดแล้ว การเข้าพบแพทย์ยังสามารถตรวจครรภ์โดยใช้การตรวจอัลตร้าซาวด์ร่วมได้ ทำให้สามารถทราบรายละเอียดของทารกในครรภ์ และยังช่วยติดตามอายุครรภ์ไปจนถึงการวางแผนกำหนดคลอดต่อไป
การอ่านผลตรวจครรภ์เองเบื้องต้น
ในกรณีที่คุณแม่ตรวจครรภ์ด้วยตนเองโดยเลือกใช้วิธีการตรวจผ่านปัสสาวะ ให้คุณแม่รอผลตรวจอย่างน้อย 5 นาที จากนั้นจึงเริ่มอ่านผลตรวจ โดยหากผลตรวจขึ้น 2 ขีด นั่นหมายถึงคุณแม่กำลังตั้งครรภ์อยู่ แต่หากขีดที่ 2 มีลักษณะเป็นสีจาง ๆ แสดงว่าผลตรวจอาจยังไม่แน่นอน ควรตรวจใหม่อีกครั้ง โดยเว้นระยะเวลาไปอีกอย่างน้อย 2-3 วัน
หากผลตรวจขึ้นขีดเดียวนั่นคือไม่มีการตั้งครรภ์ และหากผลตรวจไม่ขึ้นขีดใด ๆ เลย อาจเป็นผลมาจากการตรวจที่ไม่ถูกวิธีหรือที่ตรวจครรภ์มีข้อผิดพลาดบางอย่าง ทั้งนี้หากตรวจด้วยตนเองแล้วคุณแม่ยังไม่แน่ใจในผลลัพธ์ ก็สามารถเลือกการตรวจกับผู้เชี่ยวชาญ โดยการใช้ผลเลือดซึ่งมีความแน่นอนมากกว่าได้
หากตรวจครรภ์แล้วพบว่าท้อง ควรทำอย่างไร
หลังจากที่คุณแม่รู้แล้วว่าตรวจครรภ์ได้ตอนไหน และตรวจครรภ์ด้วยวิธีที่ถูกต้องในช่วงเวลาดังกล่าวจนได้ผลลัพธ์ออกมาว่ากำลังตั้งครรภ์อยู่ ขั้นตอนต่อไปที่คุณแม่ควรทำคือการไปฝากครรภ์ เพื่อให้ทั้งคุณแม่และลูกน้อยได้อยู่ในการดูแลของแพทย์ รวมถึงเข้ารับการตรวจดาวน์ซินโดรมเพื่อให้มั่นใจว่าทารกในครรภ์มีสุขภาพดีเต็มร้อยต่อไป
สรุปแล้วควรตรวจครรภ์ตอนไหน
คุณแม่มือใหม่ที่สงสัยว่าจะเริ่มตรวจครรภ์ได้ตอนไหนก็คงได้คำตอบกันไปแล้วว่าควรเริ่มตรวจครรภ์ช่วง 1วันถึง 1 สัปดาห์แรกหลังประจำเดือนไม่มา หรือ 21 วันหลังการมีเพศสัมพันธ์หากคุณแม่เป็นคนที่ประจำเดือนมาไม่ปกตินั่นเอง
Ref:
ท้องหรือไม่ดูอย่างไร (ฉบับ Update ปี 2566) Available from : https://www.petcharavejhospital.com/th/Article/article_detail/pregnancy-test
Ashley Marcin., When Should You Take a Pregnancy Test?, Available from : https://www.healthline.com/health/pregnancy/five-signs-to-take-pregnancy-test
Pregnancy Tests Available from : https://my.clevelandclinic.org/health/diagnostics/9703-pregnancy-tests