
อายุครรภ์ คือ ช่วงเวลาที่ตั้งแต่วันปฏิสนธิไปจนถึงวันคลอดที่คุณแม่ต้องใส่ใจเป็นพิเศษ เพราะอายุครรภ์แต่ละช่วงส่งผลต่อพัฒนาการของลูกน้อยต่างกันไป การดูแลตนเองในแต่ละช่วงอายุครรภ์จึงแตกต่างตามไปด้วย การรู้ตนเองมีอายุครรภ์เท่าไหร่จึงสำคัญมากต่อทั้งคุณแม่และทารกในครรภ์
แล้วคุณแม่จะนับอายุครรภ์ได้อย่างไร? จะรู้อายุครรภ์ด้วยวิธีไหนได้บ้าง? ไปทำความรู้จักกับอายุครรภ์ในแต่ละช่วงพร้อมวิธีนับและแนวทางการดูแลที่เหมาะสมกับแต่ละช่วงไปพร้อม ๆ กันได้ในบทความนี้
อายุครรภ์ช่วงต่าง ๆ เป็นอย่างไร

อายุครรภ์แต่ละช่วงส่งผลต่อพัฒนาการทารกในครรภ์มากน้อยแตกต่างกันไป ตั้งแต่ขนาด รูปร่างและอวัยวะต่าง ๆ ของทารกในครรภ์ ดังนั้นการทำความเข้าใจอายุครรภ์ช่วงต่าง ๆ จึงช่วยให้คุณแม่วางแผนดูแลลูกน้อยในครรภ์ได้อย่างถูกต้อง
อายุครรภ์ 4 สัปดาห์แรก
อายุครรภ์ 4 สัปดาห์แรกเป็นช่วงที่เริ่มทำการปฏิสนธิโดยสเปิร์มผสมกับเซลล์ไข่ และมีการแบ่งเซลล์จนกลายเป็นตัวอ่อนในครรภ์ โดยตัวอ่อนจะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก นอกจากนี้อายุครรภ์ในช่วงนี้ยังส่งผลให้คุณแม่ขาดประจำเดือนอีกด้วย
อายุครรภ์ 6 สัปดาห์
อายุครรภ์ 6 สัปดาห์ ตัวอ่อนในครรภ์โตขึ้น แต่ยังมีขนาดเล็กมาก โดยเริ่มพัฒนาโครงสร้างร่างกาย อวัยวะต่าง ๆ เช่น หัว ตา ปาก แขนขา และพัฒนาระบบประสาทส่วนกลางที่จะกลายเป็นสมองและกระดูกสันหลังต่อไปในอนาคต อายุครรภ์ช่วงนี้ยังเป็นช่วงที่หัวใจเริ่มพัฒนาจึงสามารถเห็นการเต้นของหัวใจได้
อายุครรภ์ 8 สัปดาห์
อายุครรภ์ 8 สัปดาห์หรืออายุครรภ์ 2 เดือน ส่วนต่าง ๆ ของร่างกายเริ่มพัฒนาเป็นรูปเป็นร่าง ตัวอ่อนมีขนาดใหญ่ขึ้นตั้งแต่ 1-3 เซนติเมตร มีการขยับตัวไปมามากกว่าช่วงอายุครรภ์ 6 สัปดาห์ โดยในระยะนี้คุณแม่บางรายอาจเริ่มมีอาการแพ้ท้องร่วมด้วย
อายุครรภ์ 10 สัปดาห์
อายุครรภ์ 10 สัปดาห์ เป็นช่วงที่ตัวอ่อนพัฒนากลายเป็นทารกและเริ่มพัฒนาอวัยวะส่วนต่าง ๆ มากขึ้นเช่น ผม ขนตา รวมไปถึงอวัยวะเพศแต่จะยังไม่สามารถตรวจเพศได้ในระยะนี้ นิ้วมือก็เริ่มแยกออกจากกันอย่างชัดเจน โดยทารกมีขนาดตัวใหญ่ขึ้นแต่ยังไม่ถึง 10 เซนติเมตร
อายุครรภ์ 12 สัปดาห์
อายุครรภ์ 12 สัปดาห์หรืออายุครรภ์ 3 เดือน อวัยวะส่วนต่าง ๆ ของทารกมีการพัฒนามากขึ้นอีก สำหรับคุณแม่ที่มีคำถามว่าท้องกี่เดือนรู้เพศก็สามารถหาคำตอบได้ในอายุครรภ์ช่วงนี้ เพราะอวัยวะเพศ มีการพัฒนามากพอที่จะตรวจสอบได้ด้วยวิธีการต่าง ๆ แล้ว อีกทั้งในระยะนี้ทารกยังสามารถดื่มน้ำคร่ำและขับถ่ายของเสียได้อีกด้วย
อายุครรภ์ 16 สัปดาห์
อายุครรภ์ 16 สัปดาห์หรืออายุครรภ์ 4 เดือน ในระยะนี้ทารกอาจเริ่มดูดนิ้วและสามารถขยับร่างกายได้มากขึ้น อวัยวะต่าง ๆ เริ่มขยับไปยังจุดที่เหมาะสม และหูของทารกในช่วงอายุครรภ์นี้ยังพัฒนามาถึงจุดที่สามารถเริ่มได้ยินเสียงภายนอกได้อีกด้วย โดยทารกอาจมีความยาวระหว่าง 12-18 เซนติเมตร และอาจมีน้ำหนักตั้งแต่ 100-200 กรัมเป็นต้น
อายุครรภ์ 20 สัปดาห์
อายุครรภ์ 20 สัปดาห์หรืออายุครรภ์ 5 เดือน ทารกเริ่มแข็งแรงขึ้น เริ่มมีการสร้างชั้นไขมันและมีขนอ่อนปกคลุมร่างกายเพื่อช่วยปกป้องและให้ความอบอุ่นแก่ทารก นิ้วมือเริ่มมีการสร้างรอยนิ้วมือของตัวเอง ในอายุครรภ์ระยะนี้ทารกยังเริ่มขยับร่างกายมากขึ้น อาจทั้งเตะและต่อยท้องคุณแม่ได้ จึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะในการเริ่มนับลูกดิ้น อีกทั้งยังเป็นช่วงที่สมองส่วนรับประสาทสัมผัสทั้ง 5 เริ่มพัฒนาอีกด้วย
อายุครรภ์ 24 สัปดาห์
อายุครรภ์ 24 สัปดาห์ หรืออายุครรภ์ 6 เดือน ในระยะนี้การเติบโตของทารกจะเริ่มช้าลง เพราะอวัยวะต่าง ๆ พัฒนาขึ้นมากเช่น ปอดซึ่งมีการพัฒนาอย่างเต็มที่ ทารกเริ่มขยับเยอะขึ้นอย่างมีทิศทางและยังสามารถได้ยินเสียงหัวใจเต้นของคุณแม่ รวมไปถึงเสียงหายใจของคุณแม่ได้แล้ว ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่อาจลองเริ่มพูดคุยกับลูกน้อยในครรภ์ได้ โดยขนาดของทารกในอายุครรภ์นี้จะยาวประมาณ 30 เซนติเมตร และหนักตั้งแต่ 600-900 กรัม
อายุครรภ์ 28 สัปดาห์
อายุครรภ์ 28 สัปดาห์หรืออายุครรภ์ 7 เดือน เป็นระยะที่ทารกเริ่มลืมตาและสามารถกะพริบตาได้ ระบบประสาทต่าง ๆ พัฒนาอย่างรวดเร็วทำให้มีการตอบสนองต่อแสงและเสียงได้ด้วย นอกจากนี้ยังเป็นช่วงที่มีการสร้างเมลานินจึงเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงของสีตาและสีผิวของทารกได้ โดยทารกในอายุครรภ์ช่วงนี้มีความยาวประมาณ 35 เซนติเมตรและหนักประมาณ 1000-1300 กรัม
อายุครรภ์ 32 สัปดาห์
อายุครรภ์ 32 สัปดาห์หรืออายุครรภ์ 8 เดือน ศีรษะของทารกจะเริ่มหันไปทางปากมดลูก ทารกเริ่มตอบสนองต่อสิ่งต่าง ๆ ชัดเจนขึ้นจนเห็นความแตกต่างของทารกขณะหลับและขณะตื่นได้ อวัยวะต่าง ๆ รวมไปถึงสมองมีการพัฒนาเพิ่มขึ้นเพื่อให้พร้อมต่อการคลอดต่อไป ในอายุครรภ์นี้ทารกอาจมีความยาวประมาณ 40 – 45 เซนติเมตรและหนักประมาณ 2,000 กรัมเป็นต้นไป
อายุครรภ์ 36 สัปดาห์เป็นต้นไป
อายุครรภ์ 36 สัปดาห์เป็นต้นไปจนถึงก่อนคลอด ร่างกายทารกยังคงพัฒนาต่อไป ขนอ่อนที่ปกคลุมส่วนต่าง ๆ ของร่างกายหลุดร่วง และทารกมีผมที่เห็นได้บริเวณศีรษะ โดยอายุครรภ์ระยะนี้เป็นช่วงที่ทารกพร้อมต่อการคลอดแล้ว
นับอายุครรภ์ด้วยวิธีไหนได้บ้าง
รู้จักอายุครรภ์ช่วงต่าง ๆ กันไปแล้ว แต่จะรู้ได้อย่างไรว่าคุณแม่มีอายุครรภ์เท่าไหร่? มาดูวิธีนับอายุครรภ์ด้วยวิธีการต่าง ๆ ได้ดังต่อไปนี้
- วิธีนับอายุครรภ์โดยเริ่มนับจากวันแรกที่ประจำเดือนมาครั้งสุดท้ายก่อนจะขาดประจำเดือน
- วิธีนับอายุครรภ์โดยการอัลตร้าซาวด์
วิธีดูแลตนเองของคุณแม่ตามแต่ละช่วงอายุครรภ์
ในแต่ละช่วงอายุครรภ์คุณแม่อาจต้องดูแลตัวเองด้วยวิธีที่แตกต่างหรือเหมือนกันได้ดังต่อไปนี้
- อายุครรภ์ช่วงไตรมาสแรก คุณแม่อาจมีอาการแพ้ท้องร่วมด้วย รวมไปถึงตัวอ่อนกำลังพัฒนาอวัยวะต่าง ๆ ในระยะนี้คุณแม่จึงควรรักษาสุขภาพเป็นพิเศษ รับประทานอาหารให้หลากหลายครบ 5 หมู่ และงดหรือลดอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพต่าง ๆ และควรพักผ่อนให้เพียงพอ
- อายุครรภ์ช่วงไตรมาสที่สอง อาจเน้นอาหารที่มีธาตุเหล็กและแคลเซียมมากขึ้นเพื่อช่วยเรื่องการพัฒนากระดูกและฟันของลูกน้อย คุณแม่อาจออกกำลังกายเบา ๆ เพื่อให้ระบบต่าง ๆ ในร่างกายทำงานได้ดี และอาจปรับท่านอนเพื่อป้องกันอาการปวดหลัง
- อายุครรภ์ช่วงไตรมาสที่สาม ช่วงนี้ท้องของคุณแม่จะใหญ่ขึ้นมาก อาจเริ่มนัดตรวจครรภ์บ่อยขึ้น รวมไปถึงต้องสังเกตอาการของตนเองให้ดี ๆ ไม่ว่าจะเป็นการดิ้นของลูก อาการท้องแข็ง เจ็บครรภ์ หรืออาการน้ำเดินต่าง ๆ เพราะอาจเป็นสัญญานเตือนว่าควรรีบไปพบแพทย์ และในช่วงนี้คุณแม่อาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย ได้แก่
- หน้าท้องแตกลาย สำหรับคุณแม่ที่มีอาการนี้หากนวดเบา ๆ ด้วยครีมที่มีกรดไฮยาลูโรนิคจะช่วยบรรเทาได้
- อาการท้องผูก คุณแม่สามารถลดอาการท้องผูกลงได้โดยการเลือกรับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์ อย่างผัก ผลไม้ และ โยเกิร์ตที่มีจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อลำไส้
สรุป
ทารกในครรภ์ล้วนมีพัฒนาการที่แตกต่างกันไปตามอายุครรภ์แต่ละช่วง รวมไปถึงความเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นกับร่างกายคุณแม่ด้วย การรู้ว่าอายุครรภ์ของตนอยู่ในช่วงไหนแล้วโดยการนับอายุครรภ์จึงช่วยให้คุณแม่สามารถเตรียมรับมือต่ออาการต่าง ๆ และช่วยเสริมพัฒนาการของทารกในครรภ์ได้อย่างเหมาะสม
Ref
Gestational age, Available from : https://medlineplus.gov/ency/article/002367.htm
Fetal Development, Available from : https://my.clevelandclinic.org/health/articles/7247-fetal-development-stages-of-growth
April-L-Winningham., gestational age, Available from : https://www.britannica.com/science/gestational-age
STRETCH MARKS: WHY THEY APPEAR AND HOW TO GET RID OF THEM., Available from : https://www.aad.org/public/cosmetic/scars-stretch-marks/stretch-marks-why-appear